ไพล
ไพล หรือ ว่านไพล ชื่อสามัญ Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root
สมุนไพรไพล มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ฉาน-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ ไพลเหลือง (ภาคกลาง),
ปูเลย ปูลอย (ภาคเหนือ), ว่านปอบ (ภาคอีสาน) เป็นต้น
ลักษณะของไพล
- ต้นไพล ลักษณะไพลเป็นไม้ล้มลุกมีความสูงประมาณ 0.7-1.5 เมตร
มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เปลือกมีสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อด้านในมีสีเหลืองถึงสีเหลืองแกมเขียว แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ โดยจะประกอบไปด้วยกาบหรือโคนใบหุ้มซ้อนกันอยู่ เหง้าไพลสดฉ่ำน้ำ รสฝาด เอียด ร้อนซ่า มีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเหง้าไพลแก่สดและแห้งจะมีรสเผ็ดเล็กน้อย ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการใช้เมล็ด แง่ง หรือเหง้า แต่โดยทั่วไปแล้วจะใช้ส่วนของเหง้าเป็นท่อนพันธุ์ในการเพาะปลูก พรรณไม้ชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียแถบประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ปลูกกันมากในจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ปราจีนบุรี และสระแก้ว
- ใบไพล ลักษณะของใบเป็นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ กว้างประมาณ 3.5-5.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 18-35 เซนติเมตร
- ดอกไพล ออกดอกเป็นช่อ แทงจากเหง้าใต้ดิน กลีบดอกมีสีนวล มีใบประดับสีม่วง
- ผลไพล ลักษณะของผลเป็นผลแห้งรูปกลม
สรรพคุณของไพล
- ดอกไพล สรรพคุณช่วยขับโลหิตและกระจายเลือดเสีย กระจายเลือดที่เป็นลิ่มเป็นก้อน (ดอก)
- ช่วยแก้ธาตุพิการ (ต้นไพล)
- สรรพคุณสมุนไพรไพล ใบช่วยแก้ไข้ (ใบ)
- ช่วยแก้อาเจียน อาการอาเจียนเป็นโลหิต (หัวไพล)
- ช่วยแก้อาการปวดฟัน (หัวไพล)
- ไพลกับสรรพคุณทางยา เหง้าช่วยขับโลหิต (เหง้า)
- ช่วยแก้เลือดกำเดาไหลออกทางจมูก (ราก)
- ช่วยรักษาโรคที่บังเกิดแต่โลหิตออกทางปากและจมูก (เหง้า)
- เหง้าไพล ใช้เป็นยารักษาหอบหืด ด้วยการใช้เหง้าแห้ง 5 ส่วน / ดีปลี 2 ส่วน / พริกไทย 2 ส่วน / กานพลู 1/2 ส่วน / พิมเสน 1/2 ส่วน นำมาบดผสมรวมกัน ใช้ผงยา 1 ช้อนชาชงกับน้ำร้อนแล้วรับประทาน หรือจะปั้นเป็นยาลูกกลอนด้วยการใช้น้ำผึ้ง ขนาดเท่าเม็ดพุทรา แล้วรับประทานครั้งละ 2 ลูก โดยต้องรับประทานติดต่อกันเรื่อย ๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น (เหง้าแห้ง)
- ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้ท้องขึ้น ท้องเดิน ช่วยขับลมในลำไส้ ด้วยการใช้เหง้าแห้งนำมาบดเป็นผงแล้วรับประทานครั้งละ 1 ช้อนชา ด้วยการนำมาชงกับน้ำร้อนและผสมเกลือด้วยเล็กน้อยแล้วนำมาดื่ม (เหง้าแห้ง)
- ช่วยแก้อาการปวดท้อง ท้องเสีย แก้บิด บิดเป็นมูกเลือด ด้วยการใช้เหง้าสดประมาณ 4-5 แว่น นำมาตำให้ละเอียด แล้วคั้นเอาแต่น้ำ เติมเกลือครึ่งช้อนชาแล้วนำมารับประทาน หรือจะฝนกับน้ำปูนใสรับประทานก็ได้เช่นกัน (เหง้าสด)
- ช่วยแก้อาการท้องผูก (เหง้า)
- ช่วยสมานแผลในลำไส้ แก้ลำไส้อักเสบ (เหง้า)
- ช่วยแก้อุจจาระพิการ (ต้นไพล)
- ช่วยขับระดู ประจำเดือนของสตรี ขับเลือดร้ายทั้งหลาย และแก้มุตกิดระดูขาว (หัวไพล, เหง้า)
- ช่วยทำให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ (เหง้า)
- ช่วยรักษาอาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ด้วยการใช้หัวไพลนำมาฝนแล้วทาบริเวณที่มีอาการฟกช้ำบวมหรือเคล็ดขัดยอก / หรือจะใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย (เหง้าสด) ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอก ฟกช้ำบวม ข้อเท้าแพลง ด้วยการใช้เหง้า 1 เหง้า นำมาตำคั้นเอาแต่น้ำมาทานวดบริเวณที่มีอาการ / หรือจะนำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเกลือเล็กน้อย นำมาห่อเป็นลูกประคบ แล้วอังไอน้ำให้ความร้อน นำมาใช้ประคบบริเวณที่มีอาการฟกช้ำบวมและบริเวณที่ปวดเมื่อย เช้า-เย็น จนกว่าจะหาย / หรือจะใช้ทำเป็นน้ำมันไพล ด้วยการใช้ไพลหนัก 2 กิโลกรัม นำมาทอดในน้ำมันพืชร้อน ๆ 1 กิโลกรัม ให้ทอดจนเหลืองแล้วเอาไพลออก และใส่กานพลูผงประมาณ 4 ช้อนชา และทอดต่อไปด้วยไฟอ่อน ๆ ประมาณ 10 นาที เสร็จแล้วนำมากรองรอจนน้ำมันอุ่น ๆ และใส่การบูรลงไป 4 ช้อนชา ใส่ภาชนะปิดให้มิดชิด รอจนเย็นแล้วจึงเขย่าการบูรให้ละลาย แล้วนำน้ำมันไพลมาทาถูนวดวันละ 2 ครั้งเวลามีอาการปวด เช้า-เย็น (สูตรของคุณวิบูลย์ เข็มเฉลิม) (เหง้า, หัว)
- ช่วยลดอาการอักเสบ แก้ปวด บวม เส้นตึง เมื่อยขบ (เหง้า)
- ช่วยแก้เมื่อย แก้อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามร่างกาย (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคผิวหนัง (เหง้า)
- ไพล สรรพคุณของเหง้าช่วยรักษาฝี (เหง้า)
- ช่วยดูดหนอง (เหง้า)
- ช่วยแก้ผดผื่นคัน ด้วยการใช้เหง้านำมาบดทำเป็นผงผสมกับน้ำ หรือจะใช้เหง้าสดนำมาล้างให้สะอาด ฝนแล้วทาบริเวณที่เป็นก็ได้เช่นกัน (เหง้า)
- เหง้าใช้ทาเคลือบแผลเพื่อป้องกันอาการติดเชื้อได้ (เหง้า)
- ช่วยแก้อาการครั่นเนื้อครั่นตัว (ใบ)
- ช่วยรักษาโรคเหน็บชา (เหง้า)
- ใช้เป็นยาชาเฉพาะที่ (เหง้า)
- ใช้เป็นยาสมานแผล ด้วยการใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย (เหง้าสด)
- เหง้าใช้เป็นยาแก้เล็บถอด ด้วยการใช้เหง้าสด 1 แง่ง (ขนาดเท่าหัวแม่มือ) นำมาตำให้ละเอียดแล้วผสมกับเกลือและการบูร อย่างละครึ่งช้อนชา แล้วนำมาใช้พอกบริเวณที่เป็นหนอง โดยควรเปลี่ยนยาที่ใช้พอกวันละ 1 ครั้ง (เหง้าสด)
- เหง้าไพลสามารถนำมาใช้ต้มกับน้ำอาบหลังคลอดของสตรีได้ (เหง้า)
- เหง้าของไพลมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งจากการทดลองพบว่ามันมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบได้ (เหง้า)
- ไพลมีฤทธิ์ช่วยคล้ายกล้ามเนื้อเรียบ ช่วยลดการบีบตัวของมดลูกและลำไส้ รวมไปถึงกระเพาะอาหารในหนูทดลอง
- ไพลมีฤทธิ์ในการช่วยต้านเชื้อรา เชื้อจุลินทรีย์ และเชื้อแบคทีเรีย
- ไพลมีฤทธิ์ช่วยต้านฮีสตามีนในผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคหอบหืด โดยสามารถช่วยลดขนาดของตุ่มนูนจากการฉีดน้ำยาฮีสตามีนเข้าใต้ผิวหนังได้อย่างมีนัยสำคัญ และยังช่วยทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการหอบเกิดอาการหอบน้อยลง การทำงานของปอดทำงานได้ดีขึ้น
- เหง้าไพลจัดอยู่ในตำรับยา "ยาประสะกานพลู" ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการอาการปวดท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อจากอาหารไม่ย่อยเนื่องจากธาตุ
- เหง้าไพลจัดอยู่ในตำรับยา "ยาประสะไพล" ซึ่งมีสรรพคุณช่วยรักษาอาการประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือมาน้อยกว่าปกติ และช่วยขับน้ำคาวปลาในสตรีหลังคลอดบุตร
ข้อควรระวัง
- การรับประทานในขนาดสูงหรือการใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดพิษต่อตับได้ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืด และไม่ควรนำมารับประทานแบบเดี่ยว ๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่พิษต่อตับออกไปเสียก่อน
- การใช้ครีมไพลห้ามใช้ทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
- ไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรชนิดนี้กับสตรีมีครรภ์ หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรและเด็กเล็ก
ประโยชน์ของไพล
- ช่วยทำให้ผิวหนังชุ่มชื่น ด้วยการใช้เหง้าสด 1 แง่ง นำมาฝานเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วต้มรวมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ เนื่องจากไพลจะมีน้ำมันหอมระเหย (เหง้าสด)
- ประโยชน์ไพลช่วยไล่แมลง ฆ่าแมลง (เหง้า)
- ช่วยกันยุงและไล่ยุง น้ำมันจากหัวไพลผสมกับแอลกอฮอล์นำมาใช้ทาผิวสามารถช่วยกันยุงและไล่ยุงได้ (หัวไพล)
- สามารถนำมาทำเป็น ครีมไพล, น้ำมันไพล, ไพลผง, ไพลขัดผิว, ไพลทาหน้าได้
ไพลกับความงาม
- ไพลขัดผิว เหง้าสามารถนำมาใช้ทำเป็นแป้งไว้สำหรับขัดผิวได้ โดยจะช่วยทำให้ผิวดูผุดผ่อง ช่วยปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ ช่วยลดเลือนริ้วรอย จุดด่างดำและไม่ทำให้เกิดสิว ซึ่งวิธีการทำไพลขัดผิว ก็ให้นำเหง้าไพลมาหั่นแบบหยาบ ๆ ประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในโถปั่น แล้วตามด้วยดินสอพอง 3 ถ้วยตวง นำมาทุบให้พอแตกแล้วใส่ลงไปในเครื่องปั่นและปั่นจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน หลังจากนั้นให้เติมน้ำต้มสุก 1 ถ้วยตวง และปั่นให้เข้ากันอีกครั้ง เมื่อได้ครีมเป็นเนื้อเดียวกันแล้วให้นำมาปั้นเป็นก้อนเล็ก ๆ แล้วนำไปตากแดดให้แห้งสนิทเก็บไว้ใส่ขวด ก็จะได้แป้งไพลที่สามารถนำมาใช้ขัดผิวได้แล้ว ซึ่งวิธีการใช้ก็นำมาผสมกับน้ำเย็นแล้วนำมาพอกบริเวณผิวทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วค่อยล้างออก
- ไพลทาหน้าหรือการพอกหน้าด้วยไพล ด้วยการใช้แป้งไพลจำนวน 2-3 ก้อนนำมาผสมกับน้ำเย็นแล้วนำมาพอกหน้าก่อนเข้านอน ทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผิวหน้าดูอ่อนนุ่ม ในสูตรสามารถเติมนมสดหรือโยเกิร์ตประมาณ 2 ช้อนชาลงไปด้วยก็ได้
แหล่งอ้างอิง : สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์ฐานข้อมูลเครื่องยาสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, สำนักงานข้อมูลสมุนไพร มหาวิทยาลัยมหิดล, การศึกษาสารสกัดจากไพลใช้ทาผิวหนังกันยุงกัด
วารสารกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ (พันธุ์อุไร, ประคอง)
-
ใบย่านาง สมุนไพรโบราณสุดมหัศจรรย์ที่เปี่ยมสรรพคุณทางยา และมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ย่านาง เป็นสมุนไพรที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่โบราณในการรักษาโรคต่าง ๆ รวมถึงการนำมาทำอาหารหลากหลายชนิด ซึ่...
-
เตย หรือ เตยหอม ชื่อสามัญ Pandan leaves, Fragrant pandan, Pandom wangเตย ชื่อวิทยาศาสตร์ Pandanus amaryllifolius Roxb. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Pandanus odorus Ridl.) จัดอยู่ในวงศ์เตยท...
-
ใบบัวบก บัวบก ชื่อสามัญGotu kola บัวบก ชื่อวิทยาศาสตร์Centella asiatica (L.) Urb. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAEหรือUMBELLIFERAE) สมุนไพรบัวบกมีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ผักหนอก (ภาคเหน...
-
เสลดพังพอนตัวเมีย เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อสามัญSnake Plant[8] เสลดพังพอนตัวเมีย ชื่อวิทยาศาสตร์Clinacanthus nutans (Burm.f.) Lindau (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Clinacanthus burmanni Nees, ...
-
มะพร้าว ผลไม้ที่กล่าวกันว่ามีสรรพคุณทางการรักษานานัปการ ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันคอเลสเตอรอล ป้องกันและรักษาภาวะขาดน้ำจากการถ่ายท้องหรือออกกำลังกาย เพราะอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ ...
-
ขมิ้นหรือขมิ้นชันชื่อสามัญ Turmeric ขมิ้น ชื่อวิทยาศาสตร์Curcuma longa L. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) ขมิ้นเป็นพืชล้มลุกที่จัดอยู่ในตระกูลขิง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน เนื้อในของเหง้า...
-
ส้มแขกเป็นผลไม้ขนาดเล็กที่มีรสเปรี้ยว มักนิยมนำมาเพิ่มรสชาติให้กับอาหารจากทางภาคใต้ เช่น แกงส้ม ต้นยำ ปลาต้มเค็ม เป็นต้น ซึ่งนอกเหนือจากความอร่อยแล้ว นักวิจัยยังเชื่อกันอีกว่าส้มแข...
-
มะขามแขก ชื่อสามัญAlexandria senna, Alexandrian senna, Indian senna, Tinnevelly senna มะขามแขก ชื่อวิทยาศาสตร์Senna alexandrina Mill. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Cassia angustifolia M.Vah...
-
ไซเลี่ยม ฮัสค์ (Psyllium Husk)คือใยอาหารอาหารชนิดละลายน้ำได้ (Soluble Fiber) DETOX ช่วยทำความสะอาดลำไส้ ไม่ให้พลังงาน ไม่มีน้ำตาล ไม่มีไขมัน มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ...